siritidaporn โพสต์ 2023-8-18 02:59:42

ข้อมูลโรค: ทริคิโนซิส (Trichinosis/ Trichinellosis)

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย siritidaporn เมื่อ 2023-8-18 03:03

ข้อมูลโรค: ทริคิโนซิส (Trichinosis/ Trichinellosis)ทริคิโนซิส เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ทริคิเนลลาสไปราลิส (Trichinella spiralis)* ซึ่งมีอยู่ในเนื้อหมูหรือหนู มักพบเป็นพร้อมกันหลายคน ในบ้านเราเคยพบเป็นโรคระบาดทางภาคเหนือหลายครั้ง

*วงจรชีวิตของพยาธิทริคิเนลลาสไปราลิส

พยาธิทริคิเนลลาสไปราลิสตัวเต็มวัย (ตัวแก่) ตัวผู้มีขนาดยาวประมาณ 1.4-1.6 มม. และตัวเมียยาวประมาณ 3-4 มม. ปกติอาศัยอยู่ในเนื้อหมูหรือหนู เมื่อคน หมู หรือหนูกินเนื้อหมูหรือหนูที่มีซิสต์ของพยาธิ เมื่อตกถึงลำไส้พยาธิตัวอ่อนจะฟักตัวออกมาจากซิสต์ เจริญเป็นตัวแก่ภายใน 2-3 วัน และภายใน 5-7 วัน พยาธิตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์กัน แล้วตัวเมียจะไชและฝังตัวอยู่ในเยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น (ของคน หมู หรือหนู) ออกลูกเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะไชเข้าหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองเข้าไปในกระแสเลือด แล้วเข้าไปขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อ (ของคน หมู หรือหนู) ประมาณวันที่ 9-23 หลังจากกินซิสต์ พยาธิจะเจริญเติบโตจนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ แล้วเกิดมีซิสต์หุ้ม ถ้าซิสต์ไม่ได้ถูกกินตัวอ่อนในซิสต์จะตายและมีหินปูนมาจับ

สาเหตุ
เกิดจากการกินเนื้อหมูหรือหนูที่มีซิสต์ของพยาธิทริคิโนซิส และไม่ได้ทำให้สุก เช่น ลาบ แหนม เป็นต้น

อาการ
ขึ้นกับปริมาณพยาธิที่รับเข้าร่างกาย ถ้าปริมาณน้อยก็อาจไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น แต่ถ้าปริมาณมากก็จะมีอาการแสดง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ระยะพยาธิอยู่ในลำไส้ หลังจากผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียฝังตัวในลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หลังกินเนื้อหมูที่มีซิสต์ของพยาธิประมาณ 24-72 ชั่วโมง และจะมีอาการอยู่นาน 1-7 วัน

ระยะที่ 2 ระยะที่พยาธิตัวเมียออกลูกพยาธิตัวอ่อน (larvae) ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์หลังกินซิสต์ของพยาธิ พยาธิตัวอ่อนจะไชผ่านผนังลำไส้เข้าไปในกระแสเลือด แล้วไชเข้าไปอยู่ตามกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ในกล้ามเนื้อนานเป็นเดือน ๆ หรือปี ๆ

หลังกินซิสต์ของพยาธิ 2-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากพยาธิตัวอ่อนฝังตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อ โดยมีไข้สูง (ซึ่งอาจเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์) หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ อาจมีอาการบวมที่หนังตา (ประมาณวันที่ 12-14 ของโรค) กลัวแสง เยื่อตาขาวอักเสบ (เคืองตา ตาแดง) ผิวหนังมีอาการคันหรือมีผื่นขึ้น
ถ้ามีปริมาณพยาธิจำนวนมาก อาการเจ็บปวดกล้ามกล้ามเนื้อจะรุนแรง จนทำให้เคลื่อนไหว หายใจ เคี้ยว กลืน หรือพูดลำบาก อาการจะเป็นอยู่นานหลายเดือนแล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้น

ระยะที่ 3 ระยะที่พยาธิตัวอ่อนมีซิสต์หุ้ม ผู้ป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้น ไข้ลดลงและอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อค่อย ๆ ทุเลาลง ซิสต์จะยังคงอยู่ในกล้ามเนื้อตลอดไป โดยพยาธิในซิสต์จะตายและมีหินปูนมาจับ ซึ่งสามารถตรวจพบโดยการเอกซเรย์

ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่จะพบได้น้อย ยกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง ตัวอ่อนอาจเข้าในอวัยวะสำคัญ ๆ ทำให้ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ้าเป็นรุนแรงอาจตายหลังเกิดโรคประมาณ 4-6 สัปดาห์

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ระยะที่ 1 และ 3 มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน (นอกจากอาการปวดท้อง ท้องเดิน)
ระยะที่ 2 ไข้ หนังตาบวม ตาแดง อาจพบผื่นตามผิวหนังเคลื่อนไหว หายใจ เคี้ยว กลืน หรือพูดลำบาก
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ซึ่งจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติและมีจำนวนอีโอซิโนฟิล (eosinophil) สูงถึงร้อยละ 10-90

นอกจากนี้อาจทำการทดสอบทางน้ำเหลือง (serologic test) เพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อพยาธิชนิดนี้ การตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อ (เช่น ที่น่อง) หรือลำไส้ไปตรวจหาตัวพยาธิ
ถ้าสงสัยมีพยาธิในสมอง อาจเจาะหลังนำน้ำไขสันหลังไปตรวจ

การรักษาโดยแพทย์
1. ในระยะพยาธิอยู่ในลำไส้ นอกจากให้การรักษาตามอาการ เช่น นอนพัก ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ให้น้ำเกลือแล้ว แพทย์จะให้ยาฆ่าพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล, อัลเบนดาโซล เป็นต้น
2. ในระยะพยาธิอยู่ในกล้ามเนื้อ ถ้ามีการอักเสบรุนแรง ให้เพร็ดนิโซโลน พร้อมกับให้ยาฆ่าพยาธิดังกล่าว ซึ่งอาจได้ผลสู้ระยะพยาธิอยู่ในลำไส้ไม่ได้


หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: ข้อมูลโรค: ทริคิโนซิส (Trichinosis/ Trichinellosis)